วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ขนมไทย” ของหวานที่ทำและรับประทานกันในครัวเรือน


 “ขนมไทย”  เป็นขนมที่เกิดจากฝีมือล้วน ๆ  เป็นของหวานที่มักทำและรับประทานกันในครัวเรือน  มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ มีวิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน  ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานที่ปราณีตบรรจงของขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ   ขนมไทยทั่วไปจะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทาน การทำขนมไทยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝน ต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ความอดทน และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถันในการประกอบ 

เสน่ห์ขนมไทย

  “ขนม”  เป็นของกินเล่นยามว่าง เป็นอาหารเบา ๆ มีหลากหลายชนิด หลายรสชาติ หลายรูปแบบ  ขนมมีอิทธิพลต่อการกินและชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก  คำว่า  “ขนม”  มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า "ขนมไทย" เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ   " ไข่กบ นกปล่อย  มะลิลอย   อ้ายตื้อ "  ผู้หลักผู้ใหญ่คนโบราณ ได้อธิบายความหมายของขนมเหล่านี้ไว้ว่า  ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลักที่แช่น้ำจนโป่งพองดูคล้ายไข่กบ  นกปล่อย หมายถึง ลอดช่องไทย ที่กดผ่านตะแกรงรู หลุดลอดลงมาเป็นตัวคล้ายกับนกปล่อยของเสีย   มะลิลอย  หมายถึง ข้าวตอก ที่เป็นแผ่นแบบสีขาว ดูคล้ายมะลิลอยน้ำ  อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียวดำนึ่งสุก ขนมทั้งสี่ชนิดนี้ ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ "น้ำกะทิ" เคี่ยวกับน้ำตาลโตนด  เวลาเสิร์ฟจะเสิร์ฟเป็นถ้วย ๆ แยกกัน 4 ชนิด  ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม 4 อย่างนี้ว่า  "ประเพณีกิน 4 ถ้วย"


ประเภทของขนมไทย  :
  ขนมไทย คือ อาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นอาหารที่รับประทานตามหลังของคาว เช่น ในอาหารมื้อกลางวันมีก๋วยเตี๋ยวไก่เป็นของคาว ผู้รับประทานอาจจะรับประทานทับทิมกรอบเป็นของหวาน เป็นต้น เมื่อบริโภคอาหารมื้อสำคัญ ๆ เช่น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น ควรบริโภคทั้งของคาวและของหวาน สิ่งที่ใช้เป็นของหวานอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้ นอกจากจะรับประทานขนมหวานหลังของคาว เราอาจรับประทานขนมหรือของหวานในเวลาที่มิได้รับประทานอาหารคาว แต่จะรับประทานขนมหรือของหวานเป็นของว่าง ขนมไทยสามารถจัดแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ตามลักษณะของเครื่องปรุง ลักษณะกรรมวิธีในการทำ และลักษณะการหุงต้ม คือ     :

1.  ขนมประเภทเชื่อม  :   เป็นการใส่ส่วนผสมลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก เช่น กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม  และขนมเชื่อมที่ทำจากไข่ทั้งหลาย เช่น  ทองหยิบ ทองหยอด  ฝอยทอง  ซึ่งเรามักเรียกว่าขนมเครื่องทอง  ขนมประเภทนี้ เป็นขนมที่ทำจากไข่แดง แต่เดิมตำรับขนมไทยมีวัตถุดิบเพียง 3 อย่าง คือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ไม่ค่อยมีการใช้ไข่เป็นส่วนผสม อาจเป็นเพราะไข่มีกลิ่นคาว มักใช้ทำอาหารคาวเป็นกับข้าวมากกว่า  แต่ท้าวทองกีบม้า ต้นเครื่องคนสำคัญในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช   เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทคิดค้นประยุกต์เอาขนมฝรั่งเข้ามาผสมผสานกับเครื่องปรุงขนมไทย   จนทำให้มีรสชาติ และหน้าตาที่แตกต่างมากมาย เป็นที่เลื่องชื่อตราบจนทุกวันนี้





ตัวอย่างขนมเชื่อม : จาวตาลเชื่อม


(จาวตาลเชื่อม)

จังหวัดเพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย  ต้นตาลเมืองเพชร ให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดที่ดีที่สุด จึงมีชื่อเสียงติดปากคนทั่วไปว่า “น้ำตาลเพชรบุรี” เพราะมีรสหวานหอมอร่อย มีรสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน จนเป็นที่มาของคำว่า “หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร”   "จาวตาลเชื่อม"  เป็นจาวตาล ในระยะที่สาม ซึ่งเนื้อในของจาวตาลจะแข็งซุยคล้ายจาวมะพร้าว นำมาเชื่อมจนน้ำตาลแทรกเข้าไปในเนื้อ  ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมมาก จึงมีราคาสูงกว่าขนมเชื่อมอื่น  ๆ

ตัวอย่างขนมเชื่อมที่ทำจากไข่  “ขนมฝอยทอง”


(ขนมฝอยทอง)

ฝอยทอง เป็นขนมดั้งเดิมของโปรตุเกส ลักษณะเป็นเส้นฝอย ๆ สีทอง ทำจากไข่แดงของไข่เป็ด เคี่ยวในน้ำเดือดและน้ำตาลทราย ชาวโปรตุเกสใช้รับประทานกับขนมปัง กับอาหารมื้อหลักจำพวกเนื้อสัตว์ และใช้รับประทานกับขนมเค้ก  โดยมีกำเนิดจากเมืองอาไวโร่ (โปรตุเกส: Aveiro) เมืองชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปรตุเกส

2.  ขนมประเภทต้ม นึ่ง มูน   :  ขนมประเภทต้มจะใช้หม้อหรือกระทะต้มน้ำให้เดือด ใส่ขนมลงไปต้มจนสุกแล้วตักขึ้น เช่น ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมประเภทนึ่ง เช่น ขนมสายบัว  ขนมชั้น เป็น การทำขนมให้สุก โดยใช้ไอน้ำ ด้วยการนำขนมที่
ต้องการนึ่ง ใส่ลงในลังถึง ที่มีน้ำเดือด ปิดฝาลังถึงไม่ให้ไอน้ำออก   ส่วนขนมประเภท มูน  เป็นการเอาส่วนเนื้อขนมผสมกับน้ำเชื่อมขณะที่สุกรัอนใหม่ ๆ เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน ปิดด้วยภาชนะให้ไอร้อนระอุและส่วนของเนื้อขนมดูดซึมน้ำเชื่อมเข้าไว้จนแห้ง เช่น ขนมขี้หนู เป็นต้น

ตัวอย่างขนมประเภทต้ม : ขนมปลากริมไข่เต่า


(ขนมปลากริมไข่เต่า)

ขนมปลากริมไข่เต่า  เป็นขนมที่แยกเป็นสองหม้อ ปลากริมเป็นชื่อของปลาน้ำจืดมีหัวแหลม  แป้งขนมปลากริมจึงมีรูปร่างเป็นเส้นยาว หัวท้ายเรียว รสชาติของขนมปลากริมออกหวานและหอมน้ำตาลโตนด ตัวสีน้ำตาล มีชื่อเล่นที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตัวหวาน”  ส่วนขนมไข่เต่า เลียนแบบไข่เต่าน้ำจืด ตัวกลม ๆ แต่ปัจจุบันทำตัวแป้งเหมือนกับปลากริม เพียงแต่เป็นตัวขาว รสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ ของกะทิ  ชาวบ้านเรียก “ตัวเค็ม” เมื่อรับประทานจะได้ครบทุกรสชาติ คือ รสกลมกล่อม หวาน มัน หอม และเค็ม

ตัวอย่างขนมประเภทนึ่ง : ขนมชั้น


(ขนมชั้น)

  ขนมชั้น  เป็นขนมไทยโบราณที่ใช้ในงานพิธีมงคล  โดยมีความเชื่อว่าจะต้องหยอดขนมให้ได้ 9 ชั้น จึงจะเป็น                ศิริมงคลเจริญก้าวหน้าแก่เจ้าภาพ   ขนมชั้นเป็นขนมที่มีความนุ่ม เหนียว หวาน มัน จะมีส่วนผสมของ กะทิ น้ำตาล และแป้ง 3 – 4 ชนิด แล้วแต่สูตรและความชอบเนื้อขนมในแต่ละแบบ ซึ่งแป้งแต่ละอย่างก็จะมีคุณสมบัติทำให้ขนมมีเนื้อต่างกัน โดย  :
  -   แป้งมัน                  :     จะทำให้เนื้อขนมเนียน นุ่ม เหนียว หนืด ดูใสเป็นมัน
  -   แป้งท้าวยายม่อม   :     จะทำให้เนื้อขนมเนียน เหนียว แข็ง แต่จะใสน้อยกว่าแป้งมัน
  -   แป้งข้าวเจ้า            :     จะทำให้เนื้อขนมแข็ง และอยู่ตัว
  -   แป้งถั่วเขียว            :     จะทำให้ขนมอยู่ตัว ไม่เหนียวมากเกินไป

ตัวอย่างขนมประเภทมูน  :  ขนมขี้หนูหรือขนมทราย


(ขนมขี้หนูหรือขนมทราย)

  ขนมขี้หนู  ทำจากแป้งข้าวเจ้า นวดกับน้ำลอยดอกไม้ที่ให้ความหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกกระดังงา เมื่อนวดแป้งกับน้ำจนได้แป้งที่เป็นก้อนแล้ว นำกระชอนหรือแร่งมาร่อนแป้งบนผ้าที่ปูไว้บนลังถึงสำหรับนึ่ง ร่อนแป้งเสร็จก็นำแป้งนั้นไปนึ่งให้สุก  พอแป้งสุกจึงนำแป้งนั้นไปมูนกับน้ำเชื่อมที่ต้องเคี่ยวให้เสร็จเสียก่อน  ด้วยการเอาน้ำเชื่อมเทใส่แป้งร้อน ๆ คนด้วยพายให้แป้งเข้ากับน้ำเชื่อม ปิดฝากะเวลาให้ได้ที่จึงเปิดฝาแล้วใช้พายคนตะล่อมให้ขนมที่มูนไว้ ฟู เบา ถ้าต้องการให้ขนมมีสีสันน่ารับประทาน ก็ใส่สีเล็กน้อยในน้ำเชื่อม เมื่อจะรับประทานให้โรยด้วยมะพร้าวขูด  ขนมที่ดีจะต้องเป็นเหมือนเม็ดทรายละเอียด ร่วนซุย ไม่จับเป็นก้อน หวามเล็กน้อย หอมชื่นใจเมื่อรับประทาน

3.  ขนมประเภททอด  :  เป็นการทำขนมให้สุก ด้วยการนำขนมที่ต้องการจะทอด ใส่ลงในกระทะที่มีน้ำมัน ตั้งไฟร้อน แล้วทอดจนขนมสุกเหลืองตามต้องการ  เช่น ขนมกง ขนมสามเกลอ

ตัวอย่างขนมประเภททอด # 1  :  ขนมกง


(ขนมกง)

  ขนมกง เป็นขนมไทยโบราณ สมัยอยุธยาเรียก ขนมกงเกวียน  เพราะมีรูปร่างเป็นวงกลม ตรงกลางเป็นกากบาทคล้ายล้อเกวียน นิยมใช้ในงานแต่งงาน  มีความหมายให้บ่าวสาวรักกันชั่วนิรันดรดุจกงเกวียนที่หมุนต่อเนื่องไม่จบสิ้น  การทำขนมกงแบบชาวบ้านจะใช้ถั่วเขียวคั่วทั้งเปลือกจนเหลือง ป่นให้ละเอียด นำไปต้มจนเปื่อยแล้วใส่น้ำตาลปี๊บ มะพร้าวขูด กวนในกระทะใบบัวจนเหนียวได้ที่  พักไว้ให้เย็นแล้วจึงปั้นเป็นเส้นกลม   จับปลายชนกันให้เป็นวงกลม แล้วปั้นไส้อีกสองเส้นวางพาดบนวงกลมให้เป็นรูปกากบาท  กดให้ปลายแต่ละมุมขึ้นเป็นปุ่ม  แล้วชุบแป้งนำลงทอดในน้ำมัน  แป้งที่ใช้เป็น     แป้งข้าวเหนียวนวดกับกะทิ  ใส่ไข่ไก่ เกลือ  และน้ำปูนใส  ทางภาคใต้ ของประเทศไทย นำไปประกอบพิธีกรรมในประเพณีสารทเดือนสิบ

ตัวอย่างขนมประเภททอด # 2  :  ขนมสามเกลอ


(ขนมสามเกลอ)

  ขนมสามเกลอ  ถูกจัดเป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน ส่วนผสมที่ใช้ทำเหมือนกับขนมกง ต่างกันเพียงใส่งาขาวคั่วเพิ่มเติม  ปั้นเป็นลูกกลม ๆ  บีบติดแล้วชุบแป้งทอด ถ้าทอดแล้วติดกันทั้ง 3 ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกันดี หากติดกัน 2 ลูก  แสดงว่าจะมีลูกยากหรืออาจไม่มีเลย  และหากหลุดจากกันหมดทั้ง 3 ลูก ทายว่าทั้งคู่จะอยู่กันไม่ยั่งยืนหรือมีชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุข  บางทีชุบแป้งทอดถึง 3-4 ครั้งก็ไม่สำเร็จ   ต้องเปลี่ยนคนทำใหม่  เรียกว่า   “หาหมอมาแก้”

4.  ขนมประเภท ปิ้ง ย่าง :  เป็นการทำให้สุกโดยการวางขนมที่ต้องการปิ้งไว้เหนือไฟ มีตะแกรงรองรับ ไฟไม่ต้องแรงนัก กลับไปกลับมาจนขนมสุก อาหารบางชนิดใช้ใบตองห่อ แล้วปิ้ง จนใบตองที่ห่อเกรียมหรือกรอบ เช่น ขนมจาก ข้าวเหนียวปิ้ง ก่อนที่จะปิ้งใช้ขี้เถ้ากลบไว้ เพื่อให้ไฟร้อนสม่ำเสมอกัน

ตัวอย่างขนมประเภทปิ้ง ย่าง : ขนมจาก


(ขนมจาก)
  ขนมจาก   เป็นขนมพื้นบ้านในย่านจังหวัดสมุทรปราการและบริเวณที่ติดชายฝั่งทะเลอื่นๆ ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ส่วนมากนิยมใช้ข้าวเหนียวดำ มะพร้าวทึนทึกขูดหยาบๆ น้ำตาลมะพร้าว และเกลือเล็กน้อย ที่เรียกว่าขนมจาก เพราะเป็นขนมที่ห่อด้วยใบจากสด ที่ได้จากต้นจาก ซึ่งเป็นพืชในสกุลวงศ์ปาล์ม ขึ้นเป็นกออยู่ตามป่าชายเลนและบริเวณริมน้ำเค็ม ขนมนี้ทำให้สุกด้วยการย่างไฟคล้ายการเผาข้าวหลามแต่ใช้ความร้อนน้อยกว่า
5.   ขนมประเภทกวน  :   ขนมไทยประเภทกวน  โดยมากมีส่วนผสมของของเหลวผสมให้รวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน     โดยมีเทคนิคในการกวนส่วนผสมให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ส่วนผสม  ข้น เหนียวเร็ว ยิ่งกวนนาน ขนมยิ่งเหนียว  การกวนขนมที่ใช้แป้ง ควรคนให้ทั่วถึงก้นกระทะ เพื่อไม่ให้ติดก้นกระทะ  จนแป้งเริ่มจับตัวข้น หรือเริ่มสุก   แป้งจะจับตัวเป็นก้อน มีความหนืด ต้องจับพายไม้ในการกวนให้แน่น  การกวนขนมที่ใช้พืชที่นำมากวนมีหลายชนิด ถ้าเป็นพืชเนื้อแน่น เช่น เผือก ถั่วเมล็ดแห้ง ควรนึ่งหรือต้มให้สุกเสียก่อน จึงบดให้ละเอียด แล้วกวนกับน้ำกะทิ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เป็นก้อน จึงใส่น้ำตาล กวนให้ทั่วถึงก้นกระทะ ไม่หยุดมือ จนกว่าขนมจะข้นและเหนียว  ลักษณะที่ดีของส่วนผสมขนมไทยประเภทกวน คือ ส่วนผสมจะเป็นก้อน มีความข้นเหนียว เกือบแห้ง ไม่ติดภาชนะ สามารถกดปั้นเป็นรูปร่างได้ โดยฉพาะการกวนผลไม้  เช่น  ขนมลูกชุบ

ตัวอย่างขนมประเภทกวน : ขนมลูกชุบ


(ขนมลูกชุบ)

  ขนมลูกชุบ  เป็นขนมไทยที่ใช้ถั่วทองหรือถั่วเขียวกะเทาะเปลือกแล้วต้ม นำมาบดแล้วกวนกับกะทิจนเนื้อเนียนละเอียดได้ที่ นำมาปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ  ของ ผัก ผลไม้ เช่น พริก มะเขือม่วง มะยม มังคุด มะม่วง เป็นต้น แล้วทาด้วยสีผสมอาหารให้เป็นสีของผัก และผลไม้นั้น ๆ  สีต้องเนียนเรียบเสมอกัน ทาแล้วสีไม่สะดุด เสียบไม้   นำไปชุบกับวุ้นให้ ขึ้นเงางาม ทิ้งให้แห้ง เสียบก้นขนมด้วยใบแก้วที่นำมาตัดเจียนประดับให้สวยงาม การทำลูกชุบจะต้องใช้ศิลปะในการปั้นให้เหมือนของจริงเพียงแต่ย่อส่วนให้เล็กลง เป็นขนมที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม มีเสน่ห์ และเป็นที่ประทับใจสำหรับผู้ที่เห็นครั้งแรก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ปัจจุบันนี้หาทานขนมลูกชุบที่อร่อยไม่ได้ง่ายนัก


สรุป   :       ของหวานไทยหรือขนมไทย กล่าวได้ว่ามีอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เพราะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ บ่งบอกว่า คนไทยเป็นคนมีลักษณะนิสัยอย่างไร เนื่องด้วยขนมไทยแต่ละชนิด ล้วนมีเสน่ห์  มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป  แต่แฝงไว้ด้วยความละเมียดละไม  ความวิจิตรบรรจง   ขนมไทยยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าคนทำเป็นคนใจเย็น     มีฝีมือเชิงศิลปะ  จากขนมธรรมดาๆ ที่มีส่วนประกอบเพียงแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว สามารถดัดแปลงเป็นขนมได้หลายชนิด  หลายรสชาติ  ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระที่สำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานบุญ  งานแต่งงาน  งานเทศกาลต่าง ๆ  หรืองานต้อนรับแขกคนสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคน ทั้งต้องอาศัยเวลาในการทำพอสมควร





แหล่งอ้างอิง

“ขนมกง” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมกง
“ขนมขี้หนู” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมขี้หนู
“ขนมจาก” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมจาก
“ขนมชั้น” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมชั้น
“ขนมไทย” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมไทย
“ขนมไทย 2” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://kanomthai.site90.com/Khanomthai2.html
“ขนมไทยประเภทต่างๆ” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://www.isaansmile.com/kahnomthai/prapet1.php
ขนมแม่เอ๊ย ตอน ประวัติขนมไทย”  (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก:  http://www.yes-iloveyou.com/smfboard/index.php?  
                 topic=3564.0. 2009.
“ขนมลูกชุบ ศิลปะการทำขนมของไทยหนึ่งในความภูมิใจ" (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก:
                    http://gotoknow.org/blog/naree-food/209283. 2551.
“ขนมสามเกลอ” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/ขนมสามเกลอ
“ต้นตาลเมืองเพชรกับแกงหัวตาล” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://www.oknation.net/blog/coolnews/
                     2007/08/28/entry-1
“ทำขนมลูกชุบตำรับชาววัง”  (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://atcloud.com/stories/62149
“เทคนิคการทำขนมไทย” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://food-recipes.vzazaa.com/2009/article/บทความ/                    
                     เทคนิคการทำขนมไทย. 2009.
“ประวัติขนมไทยและความสำคัญของขนมไทย” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จากhttp://article.konmun.com/know155.htm
“ประวัติขนมฝอยทอง” (ออนไลน์).  เข้าถึงได้จาก: http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=7f531e32c37c440f.
                     2553.
เส้นทางขนมไทย : กำเนิดและวิวัฒนาการขนมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
                       แสงแดด, 2553.



หมายเหตุ :   หนังสือเรื่อง “เส้นทางขนมไทย : กำเนิดและวิวัฒนาการขนมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน”  มีบริการที่
                        ศูนย์วิทยบริการ  ท่านสามารถติดต่อยืมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

.

 

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณสำหรับทุก Comment ครับ